วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ไม้กฤษณา Agarwood

      ไม้กฤษณาเป็น ไม้ที่มีคุณค่าสูงตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์  และมีหลักฐานการใช้ประโยชน์ไม้กฤษณามาตั้งแต่สมัยพุทธกาล  จึงทำให้มีความเชื่อว่าไม้กฤษณาเป็นไม้มงคล  สามารถใช้ป้องกันภูตผีปีศาจไม่ให้กล้ำกรายได้  สำหรับผู้เดินทางไปหาของป่า  ถ้าไปนอนค้างใต้ต้นกฤษณาจะปลอดภัยไม่มี
สิงสาราสัตว์มารบกวน  บางคนจึงนำไปปลูกไว้ในบ้านหรือสวนเพื่อเป็นสิริมงคลและเพื่อป้องกันผีสางนาง ไม้เข้ามาในบ้าน  อีกทั้งยังนำไม้กฤษณาไปทำธูปบูชาพระ  และทำพิธีต่างๆ ในศาสนา  รวมทั้งใช้เป็นยาสมุนไพรใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บอีกด้วย
ตามประวัติศาสตร์ไทยได้มีข้อมูลเกี่ยวกับไม้กฤษณาว่าเป็นไม้พื้นเมืองที่ เก่าแก่ของไทย  ตั้งแต่สมัยสุโขทัยที่ปรากฏในหนังสือไตรภูมิพระร่วง  ต่อมาในสมัยอยุธยาก็พบว่าไม้กฤษณาเป็นไม้เศรษฐกิจที่สำคัญและมีคุณค่าทาง ประวัติศาสตร์ของไทย  เพราะเป็นที่ต้องการของนานาประเทศ  ปรากฏว่าในสมัยสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1  (พ.ศ.1930)  ได้มีการส่งไม้กฤษณาเป็นเครื่องบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีน  เช่นเดียวกับสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  (พ.ศ.2101)  สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  (พ.ศ.2135)  สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2208)  และสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ(พ.ศ.2272)  ส่วนการส่งไม้กฤษณาเป็นเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงญี่ปุ่น  ปรากฏในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม  (พ.ศ.2166)  และสมัยสมเด็จพระเชษฐาธิราช(พ.ศ.2172)  อีกทั้งได้ส่งไม้กฤษณาเป็นเครื่องราชบรรณาการถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส  ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช(พ.ศ.2229)
       ในสมัยอยุธยา  นอกจากมีการส่งไม้กฤษณาเป็นเครื่องบรรณาการแล้ว  ยังถือว่าเป็นสินค้าที่ส่งออกที่ขึ้นชื่อของไทย  สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง  (พ.ศ.2177)  พ่อค้าชาวฮอลันดาได้นำไม้กฤษณาจำนวน 100 หาบ  ไปค้าขายยังประเทศญี่ปุ่น  ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  (พ.ศ.2209)  ชาวฮอลันดาได้บีบบังคับให้สยามจัดไม้กฤษณาให้จำนวน 30,000 หาบทุกปี  และขอผูกขาดการค้าในปี  พ.ศ.2218  รวมทั้งขอผูกขาดให้มีการส่งไม้กฤษณาปีละ 1,000 หาบ  ไปยังเมืองสุรัต  ประเทศอินเดีย
         ตามหลักฐานจากบันทึกในจดหมายของบริษัทอินเดียตะวันออกระบุว่า  ไม้กฤษณาของสยามมีคุณภาพดีที่สุดในโลกโดยเฉพาะไม้หอมที่มาจากบ้านนา  (Agillah Bannah)  ซึ่งเป็นพื้นที่ของจังหวัดนครนายก  ในปี พ.ศ.2222  สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ผูกขาดการค้าขายไม้กฤษณาโดยมีข้อกำหนดว่า  การซื้อขายไม้กฤษณาจะต้องผ่านมือของหลวงเท่านั้น  กฤษณาจึงกลายเป็นสินค้าผูกขาดที่สร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้แก่ชาติไทยมา อย่างยาวนาน  จนกระทั่งมายกเลิกระเบียบดังกล่าวในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
จากประวัติความเป็นมาของไม้กฤษณาของไทย  จะเห็นได้ว่าประเทศไทยในอดีตได้มีไม้กฤษณาขึ้นอยู่จำนวนมาก  ซึ่งสามารถตัดไม้กฤษณาเป็นเครื่องบรรณาการและเป็นสินค้าส่งออกที่มีคุณภาพ  (ไม้กฤษณาที่มีสารหอมแล้ว)  แต่ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกไม้กฤษณาหรือการทำสารกฤษณา  แสดงว่าไม้กฤษณาดังกล่าวเป็นไม้กฤษณาที่ขึ้นอยู่ในธรรมชาติทั้งสิ้น
          การที่ไม้กฤษณาเป็นที่ต้องการของมนุษย์หลายชาติหลายภาษาก็เพราะเป็นพืชที่มี ประโยชน์มากทางด้านสมุนไพร  มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในตำราจีน  กฤษณาใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ  แก้ลมวิงเวียน  คลื่นไส้อาเจียน  อาการปวดแน่นหน้าอก  แก้หอบหืด  แกโรคปวดบวมตามข้อและขับลมในกระเพาะอาหาร  เป็นต้น 
ส่วนในภาคตะวันออกกลาง  ชาวอาหรับถือว่ากฤษณาเป็นสิ่งสำคัญในวิถีชีวิตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  จากการที่ในทะเลทรายมีไรอาศัยเกาะตามขนละเอียดบนผิวของคน  และเป็นตัวนำเชื้อโรคกลุ่มไมโคพลาสมา  ไรเหล่านี้ไม่แพ้น้ำมันหอมระเหยอื่นๆ  แต่แพ้สารจากกลิ่นน้ำมันหอมกฤษณา  ไม้กฤษณาจึงเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน  โดยนำแก่นกฤษณาหรือไม้สับ  (ไม้ที่มีกฤษณาแทรกอยู่ในเนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อน)  มาเผาด้วยถ่านหินในเตาขนาดย่อม   เพื่อให้ควัน  และกลิ่นหอมของกฤษณาติดผิวหนัง  สามารถป้องกันแมลงหรือไรทะเลทรายมากัดจนเกิดแผลพุพองได้  และการนำไม้หอมมาเผาไฟ  ยังช่วยอบห้องให้มีกลิ่นหอมเพื่อช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด  และการสูดดมควันกฤษณาถือว่าเป็นยาบำรุงโรคหัวใจอีกด้วย
          นอกจากนี้ศาสนาอิสลามมีบัญญัติห้ามชาวมุสลิมดื่มสุราและใช้เครื่องสำอาง ประเภทน้ำหอมที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม  แต่ให้ใช้เครื่องสำอางและน้ำหอมที่ผลิตจากสมุนไพรเท่านั้น  จึงทำให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตเครื่องสำอางของชาวมุสลิมในประเทศต่างๆ ทั่วโลก  ก็ต้องการกฤษณาไปผลิตน้ำหอม  แป้งทาหน้า  และเครื่องสำอางประทินผิวอื่นๆ  อีกหลายประเภท  อีกทั้งประเทศแถบทวีปยุโรปที่เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำหอมรายใหญ่ของโลกก็ต้อง ใช้น้ำหอมจากไม้กฤษณาเป็นหัวเชื้อผสมน้ำหอม  ถึงแม้กากไม้กฤษณาที่เหลือจากการสกัดหัวน้ำหอมแล้วก็ยังสามารถนำไปสู่กระบวน การผลิตธูปหอมชนิดต่างๆ  ได้  อีกทั้งเนื้อไม้ที่ไม่ได้นำไปกลั่นน้ำหอมก็สามารถนำไปแกะสลักเป็นเครื่อง ประดับและอื่นๆ  ใช้ประโยชน์ได้  เช่น  ลูกประคำ  หีบใส่เครื่องเพชร  รูปสลักนกอินทรีย์  และทำคันธนู  เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น